ค่ายภาณุรังษี ส่วนที่ 2 เป็นชื่อที่ใช้เรียกขานค่ายทหาร อันมีที่ตั้งอยู่ ณ ต.เกาะพลับพลา อ.เมือง จ.ราชบุรี ซึ่งเป็นที่ตั้งหน่วยปกติถาวรของ กองพลทหารช่าง หน่วยขึ้นตรงกองพลทหารช่าง และหน่วยทหารช่างอื่น ๆ ที่มิได้ขึ้นการบังคับบัญชากับกองพลทหารช่างอีกหลายหน่วย โดยมีนัยแห่งการเรียกขานบ่งบอกว่า เป็นค่ายทหารที่แยกส่วนออกมาจากค่ายภาณุรังษี อันเป็นที่ตั้งหน่วยปกติถาวรของ กรมการทหารช่าง ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ ณ ต.โคกหม้อ อ.เมือง จ.ราชบุรี




          ในปีพุทธศักราช 2547 พลโท ชัยยุทธ เทพยสุวรรณ เจ้ากรมการทหารช่างและผู้บังคับค่ายพัก ค่ายภาณุรังษี ในขณะนั้น มีดำริให้แยกอำนาจผู้บังคับค่ายพัก ของค่ายภาณุรังษีส่วนที่ 1 และ ค่ายภาณุรังษีส่วนที่ 2 ออกจากกัน เพื่อให้เกิดเอกภาพในการบังคับบัญชา เนื่องจากค่ายทั้งสองมีที่ตั้งห่างจากกัน โดยให้เจ้ากรมการทหารช่าง เป็นผู้บังคับค่ายพัก ค่ายภาณุรังษีส่วนที่ 1 และ ผู้บัญชาการกองพลทหารช่าง เป็นผู้บังคับค่ายพัก ค่ายภาณุรังษีส่วนที่ 2 และให้กองพลทหารช่าง ดำเนินการขอพระราชทานนามค่ายภาณุรังษีส่วนที่ 2 ขึ้นใหม่

          กองพลทหารช่าง และหน่วยในพื้นที่ค่ายภาณุรังษีส่วนที่ 2 ได้ร่วมกันพิจารณานามค่ายที่เหมาะสม และได้เห็นพ้องต้องกันว่า พลเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงเป็นบุคคลสำคัญ ที่ทำคุณประโยชน์ไว้ให้กับเหล่าทหารช่างอย่างนานัปการ จนได้ชื่อว่าเป็นพระบิดาของเหล่าทหารช่าง จึงเห็นควรนำพระนาม บุรฉัตรไชยากร ซึ่งเป็นพระนามเดิมของพระองค์ท่าน มาตั้งเป็นนามค่ายของกองพลทหารช่าง และหน่วยในพื้นที่ค่ายภาณุรังษีส่วนที่ 2 ว่า ค่ายบุรฉัตร




          ในปีพุทธศักราช 2548 กองพลทหารช่าง ได้ดำเนินการขอพระราชทานนามค่ายทหาร ผ่านตามสายการบังคับบัญชา ซึ่งสำนักราชเลขาธิการ ได้นำความกราบบังคมทูล พระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานนามค่ายทหารของกองทัพบก ซึ่งเป็นที่ตั้งของกองพลทหารช่าง ให้มีนามว่า “ค่ายบุรฉัตร” ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 24 มกราคม พุทธศักราช 2549 และ พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ได้เดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดป้ายนามค่ายบุรฉัตร เมื่อวันศุกร์ที่ 23 มิถุนายน พุทธศักราช 2549


          ค่ายบุรฉัตร ประกอบด้วยพื้นที่ 2 ส่วน คือ

          1. พื้นที่ส่วนที่ตั้งของกองบัญชาการกองพลทหารช่าง และหน่วยขึ้นตรงของกองพลทหารช่าว ตลอดจนหน่วยข้างเคียง มีขนาดเนื้อที่ 2,335 ไร่


          2. พื้นที่ส่วนที่ตั้ง พัน.ช.คมศ. และสนามฝึกจารุมณี มีขนาดเนื้อที่ 1,200 ไร่

          ประชากรที่อาศัยอยู่ในค่ายบุรฉัตรมีจำนวนประมาณ 2,955 ครัวเรือน มีจำนวนผู้พักอาศัยทั้งสิ้นประมาณ 9,859คน แบ่งเป็นข้าราชการทหาร ประมาณ 4,792 นาย, ครอบครัว 5,067 คน




          ค่ายบุรฉัตร มีปูชนียวัตถุมงคลที่สำคัญ เป็นแหล่งรวมจิตใจ และเป็นที่เคารพสักการะบูชาของกำลังพล และครอบครัว คือ พระบรมราชานุสาวรีย์ ร.5 หน้า กองบังคับการกรมทหารช่างที่ 11 สร้างขึ้นด้วยโลหะสัมฤทธิ์ขนาดเท่าครึ่งขององค์จริง โดยมีผู้บังคับบัญชาในอดีตที่ได้ดำเนินการมาเป็นลำดับ ดังนี้

           5 ส.ค. 2528 พล.ต.เกษม สงวนชาติศรไกร เจ้ากรมการทหารช่าง ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ และมอบหมายให้ กองพันทหารช่างที่ 111 ดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งในห้วงระยะแรกของการจัดสร้าง จะยังไม่มีศาลาวงกลม
           11 มี.ค. 2531 พล.ต.วิเชียร สุกปลั่ง เจ้ากรมการทหารช่าง เป็นประธานในพิธีเปิด
           5 ส.ค. 2540 พล.ท.วิษณุ อุดมสรยุทธ เจ้ากรมการทหารช่าง เป็นประธานเปิดศาลาวงกลม
           13 มี.ค. 2555 พล.ท.นิพนธ์ ปานมงคล เจ้ากรมการทหารช่าง ประกอบพิธีสักการะฯ หลังจากการบูรณะครั้งใหญ่